วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บทที่ 1 การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์คืออะไร
คอมพิวเตอร์คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำงานตามชุดสั่งอย่างอัตโนมัติโดยจะทำการคำนวณ เปรียบเทียบทางตรรกกับข้อมูลและให้ผลลัพธ์ออกมาตามต้องการ

ระบบคอมพิวเตอร์และองค์ประกอบ
1.หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) ทำหน้าที่รับข้อมูล โปรแกรมคำสั่งเข้าสู่เครื่อง
2.หน่วยประมวลผลกลาง (CPU : Central Processing Unit) ทำหน้าที่ทำงานตามโปรแกรม
3.หน่วยความจำ (Memory Unit) ทำหน้าที่เก็บข้อมูล โปรแกรม หรือคำสั่ง ที่ส่งมาจากหน่วยรับข้อมูล
4.หน่วยติดต่อสื่อสาร (Communication Unit)
5.หน่วยแสดงผลลัพธ์ (Output Unit) ทำหน้าที่แสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผล

1.หน่วยรับข้อมูล (Input Unit)
คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับข้อมูลโปรแกรมคำสั่งจากภายนอกเข้าสู่คอมพิวเตอร์ โดยทำการแปลงข้อมูลหรือคำสั่งที่รับเข้ามาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำการประมวลผลต่อไป
หน่วยรับข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์จะเป็นอุปกรณ์แบบใดก็แล้วแต่ระบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ เช่น ในสมัยก่อนที่ใช้บัตรเจาะรูในการเก็บข้อมูลหน่วยรับข้อมูลก็คือ เครื่องอ่านบัตร (Card Reader) ต่อมาเมื่อมีการใช้เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape) และจานแม่เหล็ก (Magnetic Disk) ในการเก็บข้อมูล หน่วยรับข้อมูลก็คือเครื่องอ่านเทปแม่เหล็ก (Magnetic Reader) เครื่องอ่านจานแม่เหล็ก (Magnetic Disk Unit) และดิสด์ไดรฟ์ (Disk Drive) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านข้อมูล ปัจจุบันมีอุปกรณ์อีกมากมายที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับข้อมูล เช่น

1.1คีย์บอร์ด (Keyboard)
มีลักษณะคล้ายแป้นพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ดีด แต่จะมีปุ่มเพิ่มจากแป้นพิมพ์ดีด เช่น ฟังก์ชั่นคีย์ (Function Keys) และ แพดคีย์ (Pad Keys) เพื่อความสะดวกในการใช้งานทำหน้าที่รับข้อมูลและโปรแกรมได้โดยตรง จำนวนแป้นของคีย์บอร์ดอาจมี 104-105 คีย์ซึ่งแต่ละแป้นทำหน้าที่แตกต่างกันไป ทุกครั้งที่มีการกดแป้นคีย์บอร์ด จะถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า โดยสัญญาณดังกล่าวจะบอกให้คอมพิวเตอร์รู้ว่ามีการกดแป้นอะไร

1.2 เม้าส์ (Mouse)
คือ อุปกรณ์ขนาดเท่าอุ้งมือ ที่ด้านบนของเม้าส์จะมีแป้นสำหรับการกดเพื่อติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เม้าส์เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ชี้ตำแหน่งต่างๆ บนจอภาพ โดยจะมีลูกศรเลื่อนไปบนจอภาพตามการเลื่อนเม้าส์ไปมาบนโต๊ะ

1.3 แทรกบอลล์ (Track Ball)
มีลักษณะคล้ายเม้าส์ลูกกลิ้งขนาดใหญ่หงายขึ้น แทรกบอลล์ได้รับการออกแบบให้ทำงานแบบเดียวกับเม้าส์โดยมีลูกบอลล์ขนาดใหญ่ที่ง่ายต่อการกลิ้งไปมาโผล่ออกมาจากฐาน การใช้จะกลิ้งลูกบอลล์โดยใช้นิ้วและอุ้งมือและกดปุ่มที่อยู่ในลูกบอลล์ด้านในด้านหนึ่งการใช้แทรกบอลล์ง่ายและรวดเร็วกว่าลากเม้าส์โดยแทรกบอลล์จะอยู่กับที่ไม่ต้องเลื่อนเหมือนเม้าส์ แทรกบอลล์เป็นอุปกรณ์ที่นิยมแพร่หลายเพื่อใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว

1.4 MICR (Magnetic Ink Character Reader)
คือ เครื่องอ่านหมึกพิมพ์แม่เหล็กเครื่อง MICR จะใช้มากในธนาคาร โดยใช้กับเช็คเพราะเช็คธนาคารทั่วไปตรงบริเวณขอบล่างของเช็คจะมีตัวเลขและสัญลักษณ์แสดงรหัสธนาคาร รหัสสาขา หมายเลขบัญชีของผู้ของออกเช็คซึ่งพิมพ์ด้วยหมึกผสมกับผงเหล็กออกไซด์ เครื่อง MICR จะอ่านหมึกพิมพ์แม่เหล็กแล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าเข้าสู่ CPU 

1.5 MOR (Optical Mark Reader)
คือ เครื่องอ่านเครื่องหมายบนกระดาษ เช่น เครื่องตรวจข้อสอบ โดยเครื่อง OMR จะทำการอ่านกระดาษคำตอบที่ฝนด้วยดินสอดำ เช่น ดินสอ 2B แล้วเปลี่ยนให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าเข้าสู่ซีพียู

1.6 OCR (Optical Character Reader)
คือ เครื่องที่ใช้อ่านข้อมูลที่ถูกบันทึกตามรูปแบบและตำแหน่งที่กำหนดไว้ ข้อมูลจะเป็นตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ที่ออกแบบไว้โดยเฉพาะและสามารถรับข้อมูลในรูปของเส้นที่เป็นแท่งสีอ่อนสีเข้มที่เรียกว่าบาร์โคด (Bar Code) ซึ่งพิมพ์ติดไว้ที่กล่องบรรจุสินค้า โดยเครื่องอ่านบาร์โคดทำหน้าที่ถอดรหัสจากแท่งเหล่านี้แล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจสอบราคาแล้วแสดงราคามายังเครื่องเก็บเงิน พร้อมทั้งตัดสต็อกสินค้าและบันทึกยอดการขาย เนื่องจากเครื่อง OCR สามารถอ่านข้อมูลจากสื่อต่างๆ ได้ หลายชนิดจึงนิยมใช้กันแพร่หลายในวงการธุรกิจต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือร้านขายหนังสือ เป็นต้น

1.7 เครื่องอ่านพิกัด (Digitizer)
เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลที่มีลักษณะเป็นกระดานอิเล็กทรอนิกส์เรียบๆ มีสายไฟฟ้าและอุปกรณ์คล้ายแว่นขยายที่มีขีดกากบาทตรงกลางพร้อมปุ่มสำหรับกด ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลไปบนจอภาพ เครื่องอ่านพิกัดจะอ่านค่าพิกัดตำแหน่ง (Coordinate) ของจุดบนภาพแล้วส่งเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ รูปภาพจะถูกแสดงทางจอภาพหรือเครื่องพิมพ์ เครื่องอ่านพิกัดเหมาะกับงานที่เกี่ยวกับแผนที่และภาพกราฟิกต่างๆ เครื่องอ่านพิกัดแบบนี้บางทีเรียกว่า แท็ปเลต )Tablet)

1.8 เครื่องสแกนเนอร์ (Scanner)
เป็นอุปกรณ์ที่เก็บภาพหรือข้อความแล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาณเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องสแกนเนอร์จะใช้งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับกราฟิกดีไซน์ที่ต้องใช้ภาพเครื่องสแกนเนอร์มีขนาดและราคาต่างๆ กัน เช่น
สแกนเนอร์แบบสอดแผ่นเป็นเครื่องขนาดเล็กใช้สอดภาพหรือเอกสารที่เป็นแผ่นเข้าไปในช่องอ่านข้อมูล
สแกนเนอร์มือถือ มีขนาดเล็กและราคาไม่แพงนัก ส่วนใหญ่ใช้สแกนภาพเล็กๆ เช่น โลโก้ หรือภาพลายเส้น
สแกนเนอร์แผ่นเรียบ เป็นเครื่องขนาดใหญ่ประกอบด้วยแผ่นกระจกเอาไว้สแกนภาพคล้ายเครื่องถ่ายเอกสารภาพที่ได้จะมีคุณภาพดีกว่าสแกนเนอร์มือถือและราคาก็แพงกว่า


1.9 ปากกาเรืองแสง (Light Pen)
มีลักษณะเหมือนกับปากกา ที่ปลายของปากกาจะประกอบด้วยเซล (cell) ที่ไวต่อแสงและตอนท้ายของปากกานี้จะมีสายเพื่อต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วาดแบบในงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยแตะปากกาเรืองแสงบนจอภาพชนิดพิเศษก็จะปรากฏเป็นรูปที่วาด นิยมใช้งานออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์หรือ CAD (Computer Aided Design)


1.10 จอยสติ๊ก (Joy Sticks)
มีลักษณะเป็นคันโยกไปมาเพื่อการเคลื่อนที่ในเกมพร้อมกับมีปุ่มให้กดสำหรับสั่งงานพิเศษ มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเม้าส์

1.11เครื่องเทอร์มินัล (Terminal)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รับข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์และแสดงผลลัพธ์ที่ได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องเทอร์มินัลสามารถติดตั้งอยู่ห่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในระยะไกลๆ ได้ โดยเชื่อมด้วยสายโทรศัพท์ เทอร์มินัล จึงจัดเป็นหน่วยรับข้อมูลโดยตรงอีกชนิดหนึ่งคอมพิวเตอร์ระบบหนึ่งสามารถต่อเข้ากับเครื่องเทอร์มินัลได้หลายๆ ตัว

1.12 POS (Point of Sale Terminal)
เป็นเครื่องเทอร์มินัล อีกชนิดหนึ่งนิยมใช้ตามซุปเปอร์มาเก็ตใช้เก็บเงิน POS จะมีแป้นพิมพ์สำหรับคีย์ข้อมูลและมีจอภาพเล็กๆ เพื่อแสดงยอดเงินและมีเครื่องพิมพ์สำหรับพิมพ์รายการให้แก่ลูกค้า
การใช้เครื่อง POS จะมีการบันทึกรหัสและราคาสินค้าพร้อมราคาขายไว้ในเครื่องก่อนล่วงหน้า การจำหน่ายและการชำระเงินจะทำที่จุดขาย จึงเรียกว่าเครื่อง Point of Sale หรือ POS โดยพนักงานแคชเชียร์จะป้อนรหัสสินค้าซึ่งกำหนดเป็นตัวเลข รายการสินค้าและราคาขายก็จะปรากฏที่จอภาพเล็กๆ ขณะเดียวกันรายการก็จะพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์เป็นใบเสร็จรับเงินไปในตัวพร้อมกับแสดงการรวมเงิน การรับเงินและการทอนเงิน การป้อนรหัสสินค้าด้วยการกดปุ่มตัวเลขมากๆ มีโอกาสผิดพลาด ต่อมาก็มีการแก้ไขโดยใช้รหัสแท่ง (BAR CODE) โดยข้อมูลเป็นรหัสแทนด้วยรูปแถบขาวดำที่มีความกว้างความแคบของตัวเลขแต่ละตัวแตกต่างกัน การอ่านข้อมูลจะอาศัยหลักการสะท้อนของแสง โดยใช้เครื่องสแกนอ่านข้อมูลเข้าไปเก็บในคอมพิวเตอร์โดยตรง

1.13 จอสัมผัส (Touch Screen)
ป็นจอภาพชนิดพิเศษที่ใช้ระบบสัมผัสแทนการใช้คีย์บอร์ดและเม้าส์ โดยการใช้นิ้วไปสัมผัสกับจอภาพ ปัจจุบันมีการนำจอภาพสัมผัสมาใช้กับอุปกรณ์มัลติมีเดีย เมื่อเกิดการสัมผัสหน้าจอเครื่องก็จะแสดงภาพและเสียงทันทีเหมาะกับผู้ที่ใช้คีย์บอร์ดและเม้าส์ไม่คล่อง เช่น ใช้ในการสอบถามข้อมูลหรือข้อสนเทศตามสถานที่เที่ยว พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น

1.14 แพดสัมผัส (Touch Pads)
เป็นแผ่นสำหรับใช้นิ้วจิ้มเพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนเม้าส์ โดยเครื่องจะเปลี่ยนจากแรงกดเป็นสัญญาณไฟฟ้า นิยมใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว (Note Book)

1.15 กล้องดิจิตอล (Digital Camera)
เป็นกล้องถ่ายภาพที่ไม่ต้องใช้ฟิล์ม โดยกล้องจะแปลงภาพเป็นสัญญาณดิจิตอลเข้าไปเก็บเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์แล้วเรียกดูภาพได้ทันทีหรือจะใช้โปรแกรมช่วยตัดต่อ ตกแต่งภาพให้ดูสวยงามขึ้นก็ได้ ปัจจุบันนิยมมาก เช่น การถ่ายรูปสติกเกอร์

1.16 อุปกรณ์รับข้อมูลเสียง (Voice Input Devices)
เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลโดยใช้เสียงของมนุษย์ แล้วแปลงสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณดิจิตอลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์จะทำการเปรียบเทียบกับสัญญาณเสียงที่จำหรือบันทึกไว้ ถ้าพบคำที่ตรงก็จะทำให้เกิดเสียงออกมาทางลำโพงคอมพิวเตอร์

2.หน่วยประมวลผลกลาง (CPU : Central Processing Unit)
หน่วยประมวลผลกลางหรือซีพียู (CPU) ถือเป็นสมองของเครื่องคอมพิวเตอร์คือส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

2.1หน่วยควบคุม (Control Unit)
เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ประสานการทำงานของส่วนต่างๆ ในระบบคอมพิวเตอร์เปรียบเทียบเสมือนเป็นศูนย์ระบบประสาท คือ ควบคุมการทำงานหน่วยรับข้อมูล หน่วยคำนวณและตรรกะ และหน่วยแสดงผลลัพธ์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ผลิต สัญญาณที่จะใช้ในการซิงโครไนส์ (Synchronize) การทำงานและการส่งถ่ายข้อมูลเข้าออก ALU และภายนอก CPU ควบคุมการส่งถ่ายข้อมูลผ่านบัสแอดเดรส (Address Bus) และบัสข้อมูล (Data Bus) และทำการแปลความหมายของสัญญาณต่างๆ บนบัสควบคุม (Control Bus) ซึ่งรับจากวงจรภายนอก CPU หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหน่วยควบคุมคือการอ่านคำสั่งที่เก็บไว้ในหน่วยความจำมาถอดรหัส (Decode) และทำงานตามคำสั่งนี้ การทำงานจะเป็นจังหวะซ้ำกัน คือจังหวะอ่านคำสั่ง (Fetch) จังหวะถอดรหัสคำสั่ง (Decode) และจังหวะทำงานตามคำสั่ง (Execute) กลุ่มคำสั่งที่เขียนไว้ในหน่วยความจำเรียกว่า โปรแกรม (Program) CPU จะอ่านคำสั่งและทำงานตามคำสั่งเป็นขั้นๆ จนกว่าจะจบโปรแกรม

2.2 หน่วยคำนวณและตรรกะ (ALU : Arithmetic and Logic Unit)
ทำหน้าที่ประมวลผลด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ เช่น
    • การคำนวณ ได้แก่ บวก ลบ คูณ หาร
    • การกระทำทางตรรกะ (AND, OR)
    • การเปรียบเทียบ (Compare) เช่น การเปรียบเทียบค่าของข้อมูล 2 ตัวว่ามีค่าเท่ากัน มากกว่า หรือน้อยกว่า ไม่ว่าข้อมูลจะเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรก็สามารถเปรียบเทียบได้
    • การเลื่อนข้อมูล (Shift)
    • การเพิ่มและการลด (Increment and Decrement)
    • การตรวจสอบบิท (Test Bit)
3.หน่วยความจำ (Memory Unit)
คือ ส่วนที่ทำหน้าเก็บข้อมูลหรือคำสั่งที่ส่งมาจากหน่วยรับข้อมูล
หน่วยความจำเป็นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

3.1หน่วยความจำหลัก (Main Memory)
หรือหน่วยความจำภายใน (Internal Memory) เป็นหน่วยความจำที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์หน่วยความจำหลัก ทำหน้าที่
    • เก็บข้อมูลที่รับเข้าจากหน่วยรับข้อมูล เพื่อนำไปประมวลผลเรียกหน่วยความจำส่วนนี้ว่า ที่เก็บข้อมูล (Input Storage Area)
    • เก็บผลลัพธ์ที่ได้ขณะทำการประมวลผลซึ่งยังไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย เรียกหน่วยความจำส่วนนี้ว่าที่เก็บข้อมูลขณะดำเนินการ (Working Storage Area)
    • เก็บผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลซึ่งเป็นผลลัพธ์สุดท้าย เรียก หน่วยความจำส่วนนี้ว่าที่เก็บผลลัพธ์ (Output Storage Area)
    • เก็บชุดคำสั่งที่ใช้ในการประมวลผล เรียกหน่วยความจำส่วนนี้ว่าที่เก็บโปรแกรม (Program Storage Area)
ในส่วนของหน่วยความจำหลักนี้ ถ้าพิจารณาตามความถาวรและความคงอยู่ของข้อมูลสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
 -หน่วยความจำถาวร (ROM : Read Only Memory)
เป็นชิป (Chip) ที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล หรือโปรแกรมคำสั่งอย่างถาวรผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตเครื่อง ในการผลิตนั้นจะฝังโปรแกรมเข้าไปในตัวชิปและเรียกซอฟต์แวร์ที่เก็บไว้ใน ROM นี้ว่าเฟิร์มแวร์ (Firmware) ซึ่งส่วนใหญ่มักเก็บโปรแกรมระบบผู้ใช้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่บันทึกไว้ใน ROM ได้ สามารถอ่านข้อมูลใช้ได้อย่างเดียวไม่สามารถเข้าไปเขียนได้ นอกจากโปรแกรม นอกจากโปรแกรมระบบแล้วยัง รอมไบออส (ROM BIOS) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ ตอนเริ่มเปิดเครื่อง (Boot) ทำหน้าที่จัดการและควบคุมอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับ Input /Output ถ้าเป็นเครื่องพีซีของบริษัทไอบีเอ็มจะมีรอมเบสิก (ROM BASIC) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เขียนโปรแกรมภาษาเบสิกโดยใช้กับดอส (DOS) ข้อมูลหรือโปรแกรมจะถูกเก็บไว้อย่างถาวร ROM มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่เป็นหน่วยความจำแบบ NON-Volatile คือไฟดับ ข้อมูลหรือโปรแกรมก็ยังคงสภาพอยู่ ไม่สูญหายไปไหนจึงเหมาะสำหรับคำสั่งสำคัญของระบบ
-หน่วยความจำชั่วคราว (RAM : Random Access Memory)
เป็นชิป (Chip) ที่ใช้เพื่อทำหน้าที่จัดการในส่วนของหน่วยความจำหลัก เป็นหน่วยความจำที่เก็บข้อมูลไว้ชั่วคราว โดยสามารถอ่าหรือเขียนข้อมูลไปได้ตามความต้องการของผู้ใช้แต่มีข้อเสียคือถ้าไฟดับหรือปิดเครื่องข้อมูลจะสูญหายทันที (Volatile) ดังนั้น ถ้าต้องการเก็บข้อมูลต้องเก็บไว้ที่หน่วยความจำสำรอง (Secondary Memory)

3.2หน่วยความจำสำรอง (Auxiliary Memory or Secondary Memory)
หรือหน่วยความจำภายนอก (External Memory)
เนื่องจากหน่วยความจำหลักประกอบด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การอ่านและเขียนข้อมูลเป็นไปด้วยความรวดเร็วแต่หน่วยความจำหลักไม่สามารถเก็บข้อมูลได้หมดหรือสามารถเก็บข้อมูลได้ชั่วคราวขณะที่ใช้งาน จึงจำเป็นต้องมีหน่วยความจำสำรองไว้ในการเก็บข้อมูล หน่วยความจำสำรองต้องอาศัยสื่อบันทึกข้อมูล และอุปกรณ์รับส่งข้อมูลชนิดต่างๆ สื่อบันทึกข้อมูล เช่น เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กซีดีรอม เป็นต้น
ในการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์นั้นข้อมูลหรือโปรแกรมที่นำเข้าสู่หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) เพื่อทำการประมวลผลจะถูกเก็บบันทึกไว้ในหน่วยความจำหลักซี่งหน่วยความจำหลักจะมีความเร็วในการจัดเก็บข้อมูลสูงและมีราคาแพง จึงทำให้คอมพิวเตอร์มีความจุจำกัด ดั้งนั้นในบางครั้งข้อมูลหรือโปรแกรมที่มีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเก็บหรือบันทึกไว้ในหน่วยความจำอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถทางด้านความเร็วสูงกับหน่วยความจำหลักจึงเกิดหน่วยความจำสำรองขึ้น ซึ่งมีราคาถูกกว่าและสามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่า
หน่วยความจำสำรองต้องอาศัยสื่อบันทึกข้อมูล และอุปกรณ์รับส่งข้อมูลชนิดต่างๆ เช่น เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็ก ผู้ใช้จะต้องอาศัยสื่อบันทึกข้อมูลและอุปกรณ์รับส่งข้อมูลเป็นหน่วยความจำสำรองให้เข้ากับลักษณะการประมวลผล ดังนี้
    1. ความเร็วในการดึงข้อมูล (Retrieval Speed) จากหน่วยความจำสำรองเพื่อนำมาประมวลผลโดยต้องการใช้เวลาให้น้อยที่สุด
    2. ความจุ (Storage Capacity) ต้องการอุปกรณ์ที่มีความสามารถในการเก็บข้อมูลได้มากที่สุด หรือมีความจุมากที่สุด
    3. ค่าใช้จ่าย เสียค่าใช้จ่ายในการประมวลผลน้อยที่สุด
หน่วยความจำสำรอง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
    • หน่วยความจำสำรองที่สามารถเข้าถึงข้อมูลโดยตรง (Direct Access) ได้แก่สื่อที่สามารถเก็บและเรียกใช้ข้อมูลที่ต้องการได้โดยตรงไม่ต้องอ่านเรียงตามลำดับ เช่น จานแม่เหล็ก (Magnetic Disk) และ ซีดีรอม (CD-ROM)
    • หน่วยความจำสำรองที่เข้าถึงข้อมูลเรียงตามลำดับ (Sequential Access) ได้แก่ สื่อที่ใช้บันทึกข้อมูลที่ต้องมีการจัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลโดยการเรียงตามลำดับ เช่น เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape)
1.จานแม่เหล็ก (Magnetic Disk) เป็นอุปกรณ์หน่วยความจำที่นิยมใช้กันมาก อุปกรณ์ชนิดนี้มีลักษณะเป็นแผ่นกลมบางๆ ผิวหน้าทั้งสองฉาบด้วยสารแม่เหล็กมีขนาดต่างๆ กันเป็นสื่อนำข้อมูลที่มีความเร็วสูง สามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งแบบเรียงลำดับ (Sequential) และแบบสุ่ม (Random) คือ บันทึกลงในที่ว่างตรงไหนก็ได้ ส่วนการค้นหาข้อมูลที่บันทึกไว้ในจานแม่เหล็กจะเป็นแบบเข้าถึงข้อมูลโดยตรง (Direct Access) คือ ดึงข้อมูลที่ต้องการได้โดยตรง การเข้าถึงข้อมูลใช้วิธีอ้างตำแหน่งของข้อมูลนั้น ทำให้การอ่านหรือค้นหาข้อมูลได้เร็ว
การบันทึกข้อมูลลงแผ่นจานแม่เหล็กจะบันทึกลักษณะเป็นวงเรียกว่าแทร็ก (track) โดยเริ่มจากวงนอกเข้าไปยังวงใน วงนอกสุดของจานแม่เหล็กจะเรียกแทร็กที่ 0 จำนวนแทร็กในจานแม่เหล็กจะมีไม่เท่ากัน แต่ละแทร็กจะถูกแบ่งออกเป็น เซกเตอร์ (Sector)
ในการอ่านข้อมูลแต่ละครั้งจะทำทีละ 1 เซกเตอร์ การจัดแทร็กและเซกเตอร์ ถ้าเป็นเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ ภายใต้ระบบดอสจะใช้คำสั่งฟอร์แมท (Format) จำนวนเซกเตอร์ในแต่ละเทร็กขึ้นอยู่กับชนิดของจานแม่เหล็กและวิธีการฟอร์แมท บริษัท IBM ได้เลือกใช้เซกเตอร์ที่มีขนาดเท่ากับ 512 ไบท์ (1/2 KB) การอ่านและเขียนทำโดยดิสก์ไดร์ฟ (Disk Drive) โดยมีหัวอ่านและเขียน
จานแม่เหล็กทั้งฮาร์ดดิสก์และดิสก์เก็ตจะติดต่อกับแผ่นเมนบอร์ด (Mainboard) ผ่านดิสก์คอนโทรลเลอร์ซึ่งเป็นวงจรที่อยู่บนแผ่นเมนบอร์ดตัวคอนโทรลเลอร์จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากดิสก์ไดร์ฟไปยังตัวไมโครโปรเซสเซอร์ (Microprocessor) และแรม (RAM) ดิสก์ไดรฟ์คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านและเขียนข้อมูลลงแผ่นดิสก์โดยจะประกอบด้วยหัวอ่าน/เขียน
2.ดิสก์แบบอ่อนหรือดิสก์เก็ต (Flexible Disk, Floppy Disk, Diskette)
เป็นดิสก์ที่ทำจากแผ่นฟิลม์พลาสติกบาง โดยทำจากสารไมลาร์ (Mylar)ฉาบด้วยสารแม่เหล็ก และหุ้มด้วยกระดาษแล้วใส่ซองเอาไว้ดิสก์เก็ตใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มีขนาด 5 ¼
และ 3 ½ นิ้ว
ลักษณะแผ่นดิสก์เก็ตมีรูปร่างคล้ายแผ่นเสียง มีกระดาษหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ส่วนที่เจาะเป็นวงรียาวสำหรับหัวอ่านและบันทึกเคลื่อนที่ เรียกว่า Head Window และมีรูกลมเล็กๆ เรียกว่า Index Hole มีไว้เพื่อควบคุมการอ่านของแต่ละเซกเตอร์ เนื้อที่บนแผ่นดิสก์เก็ตจะมีหมายเลขแทร็กและเซ็กเตอร์กำกับอยู่ ตัวเลขนี้จะเป็นตัวชี้ตำแหน่งของข้อมูลที่จะอ่านหรือเขียนลงบนแผ่นดิสก์เก็ต ด้านหนึ่งของแผ่นจะมีปุ่มสำหรับเลื่อน เพื่อป้องกันการบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิม เรียกว่า Write Protect Notch
ชนิดของแผ่นดิสก์เก็ต สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
    1. Single-Side Single-Density (SS SD) หมายถึง แผ่นดิสก์เก็ตที่ใช้ได้เพียงหน้าเดียว และความหนาแน่นของข้อมูลปกติ
    2. Single-Side Double-Density (SS DD) หมายถึง แผ่นดิสก์เก็ตที่ใช้ได้เพียงหน้าเดียว และความหนาแน่นของข้อมูลเป็นสองเท่า
    3. Double-Sides Single-Density (DS SD) หมายถึง แผ่นดิสก์เก็ตที่ใช้ได้สองหน้าและแต่ละหน้ามีความหนาแน่นของข้อมูลปกติ
    4. Double-Side Double-Density (DS DD) หมายถึง แผ่นดิสก์เก็ตที่ใช้ได้สองหน้าและแต่ละหน้ามีความหนาแน่นของข้อมูลเป็นสองเท่า ถ้าเป็นดิสก์เก็ตขนาด 5 ¼ นิ้ว จะมีความจุ 360 กิโลไบท์ และชนิด 3 ½ จะมีความจุ 720 กิโลไบท์
    5. Double-Sides High-Density (DS HD) หมายถึง แผ่นดิสก์เก็ตที่ใช้ได้สองหน้าและแต่หน้ามีความหนาแน่นของข้อมูลสูง ถ้าเป็นดิสก์เก็ตขนาด 5 ¼ นิ้ว จะมีความจุ 1.2 เมกะไบท์ และชนิด 3 ½ นิ้ว จะมีความจุ 1.44 เมกะไบท์


ระยะเวลาที่ใช้ในการดึงข้อมูล (Access Time) ของจานแม่เหล็กAccess Time คือเวลาตั้งแต่คอมพิวเตอร์เริ่มค้นหาข้อมูล จนกระทั่งได้รับข้อมูลตามต้องการ ดังนั้น Access Time จะประกอบด้วย
    1. ระยะเวลาค้นหา (Seek Time) คือ เวลาที่แขนของหัวอ่านเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งของแทร็ค (Track) ที่ต้องการ
    2. การสวิตซ์หัวอ่าน (Head Switching) คือ การหมุนของหัวอ่านให้อยู่เหนือพื้นผิวแทร็ค (Track) ที่ต้องการ
    3. ระยะเวลาในการหมุน (Rotation Delay Time) คือ เวลาที่หมุนให้หัวอ่านอยู่ตรงกับรายการข้อมูลที่ต้องการ
    4. การเคลื่อนย้ายข้อมูล (Data Transfer) คือ เวลาที่ใช้ในการย้ายข้อมูลจากแทร็ค (Track) บนจานแม่เหล็กเข้าสู่หน่วยความจำหลัก



ข้อดี
    1. เวลาที่ใช้ในการดึงข้อมูล (Retrieve) และการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล (Update) จะใช้เวลาน้อยกว่าเทปแม่เหล็ก เพราะเป็นแบบเข้าถึงข้อมูลโดยตรง (Direct Access)
    2. ใช้ง่ายและสะดวกกว่าเทปแม่เหล็ก
                    ข้อเสีย
    1. ราคาชุดจานแมเหล็กจะแพงกว่าเทปแม่เหล็กที่สามารถบันทึกข้อมูลได้ในปริมาณที่เท่ากัน
    2. การป้องกันการลบข้อมูลบนเทปจะง่ายกว่าในดิสก์เก็ตเพราะเพียงแต่เอาวงแหวนป้องกันไฟล์ (File Protection Ring) ออกจากเทปเท่านั้น
ดังนั้นงานที่เหมาะที่จะใช้จานแม่เหล็กเก็บข้อมูล คือ
    1. เป็นงานที่ต้องการค้นหาข้อมูลโดยตรง
    2. งานที่มีปริมาณข้อมูลไม่มากเกินไป
    3. เป็นงานที่ต้องการประมวลผลให้เสร็จในช่วงเวลาจำกัด
2.จานแสง (Optical Disk)
เป็นดิสก์อีกชนิดหนึ่งที่ใช้บันทึกข้อมูลได้ปริมาณมาก โดยใช้การบันทึกด้วยระบบแสงเลเซอร์ สามารถอ่านข้อมูลได้ด้วยแสงเลเซอร์ จานแสงนี้สามารถอ่านข้อมูลและบันทึกข้อมูลได้ โดยจะต้องมีเครื่องอ่านและบันทึกโดยเฉพาะ เช่น CD-ROM, CD-R

3.เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape)
เทปแม่เหล็กเป็นสื่อที่มีราคาถูกใช้เก็บข้อมูลที่มีความจุสูง เทปแม่เหล็กแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่เทปชนิดม้วน (Reel Tape) เป็นเทปแม่เหล็กที่ถูกม้วนอยู่บนวงล้อและเทปคาร์ทริดจ์ (Cartridge Tape) เป็นที่นิยมใช้งานสะดวก เทปคาร์ทริดจ์ตัวเทปจะบรรจุในกล่องพลาสติก เวลาใช้ก็เพียงแต่เสียบตลับเทปลงในไดร์ฟเลย ซึ่งนับว่าสะดวกกว่าเทปชนิดม้วนมากเพราะในการใช้เทปม้วนต้องนำมาม้วนเข้าเครื่อง
ลักษณะเทปแม่เหล็กที่ใช้บันทึกข้อมูลมีลักษณะเป็นแถบที่ทำด้วยพลาสติกด้านหนึ่งเคลือบด้วยสารแม่เหล็ก การบันทึกข้อมูลลงบนเทปจะทำแบบเรียงตามลำดับ (Sequential) และในการอ่านหรือค้นหาข้อมูลที่บันทึกไว้บนเทปจะทำแบบเรียงตามลำดับเช่นเดียวกัน

4.หน่วยติดต่อสื่อสาร (Communication Unit)
คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ เช่น Modem, Network, Adapter Card เป็นต้น

5.หน่วยแสดงผลลัพธ์ (Output Unit)
คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผล เช่น การแสดงผลลัพธ์ออกทางจอภาพ การแสดงผลลัพธ์ออกทางเครื่องพิมพ์ การบันทึกข้อมูลลงสื่อโดยเครื่องขับเทปแม่เหล็กหรือเครื่องขับจานแม่เหล็ก การขับเสียงออกจากลำโพง เป็นต้น
อุปกรณ์บางอย่างทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยรับข้อมูลและหน่วยแสดงผลลัพธ์ เช่น เครื่องขับเทปแม่เหล็ก เครื่องขับจานแม่เหล็ก เครื่องเทอร์มินัล ถ้าทำหน้าที่นำข้อมูลไปยังหน่วยความจำหลัก ก็จัดเป็นหน่วยรับข้อมูลแต่ถ้าทำหน้าที่นำข้อมูลออกจากหน่วยความจำหลักก็จัดเป็นหน่วยแสดงผลลัพธ์ และจะเรียกอุปกรณ์ ทั้งสองอย่างนี้ว่า Input / Output Device (I/O Device)
การแสดงผลลัพธ์ ได้แก่

5.1การแสดงผลลัพธ์บนจอภาพ
เรียกว่า Soft Copy อุปกรณ์ที่ใช้ คือ จอภาพ
จอภาพ (Monitor) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แสดงผลลัพธ์ จอภาพโดยทั่วไปจะเป็นจอภาพสีมักจะมีขนาด 14 นิ้ว หรือ 15 นิ้ว แต่ถ้าต้องการใช้ในงานด้านกราฟิกจอภาพขนาด 17 นิ้ว 20 นิ้ว และ 21 นิ้ว จะให้ภาพคมชัด ภาพต่างๆ จะถูกแสดงด้วยจุดที่มีขนาดเล็กเรียกว่าพิกเซล (Pixel)
จอภาพสี (Color) เป็นจอที่แสดงภาพกราฟิกเป็นสีต่างๆ เหมาะกับงานทางด้านกราฟิกและการเล่นเกม ลักษณะของภาพสีจะแสดงได้ทั้งสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน
ปัจจุบันนิยมใช้จอชนิด SVGA (Super Video Graphics Array) สามารถแสดงผลความละเอียดได้หลายระดับ เช่น 640 * 480 จุด 800 *600 จุด 1,024, * 768 จุด และ1,280*1,024 จุด ความละเอียดของการแสดงผลถ้ายิ่งละเอียดมากจะได้ภาพที่มีขนาดเล็กลง ความละเอียดของการแสดงผลคือจำนวนจุด (Pixel) ที่แสดงบนจอและจำนวนสีบนจอภาพซึ่งเป็นตัวกำหนดภาพที่แสดงบนจอว่าภาพเหมือนจริงได้มากน้อยเพียงใด

5.2การแสดงผลลัพธ์ทางเครื่องพิมพ์
เรียกว่า Hard Copy อุปกรณ์ที่ใช้ คือ เครื่องพิมพ์ (Printer) เครื่องวาดรูป (Plotter)
เครื่องพิมพ์ (Printer) เป็นอุปกรณที่แสดงผลลัพธ์ ถ้าเป็นเครื่องพิมพ์ตามวิธีการพิมพ์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    • อิมแพคพรินเตอร์ (Impact Printer)
    • นอนอิมแพคพรินเตอร์ (Non-Impact Printer)
    • อิมแพคพรินเตอร์ (Impact Printer) เป็นเครื่องพิมพ์แบบกระทบที่ใช้การตอกหัวพิมพ์ลงไปบนผ้าหมึกไปกดลงบนกระดาษอีกทีหนึ่ง ลักษณะการทำงานของเครื่องพิมพ์แบบนี้คล้ายกับเครื่องพิมพ์ดีดทั่วไป เครื่องพิมพ์แบบนี้แบ่งออกเป็นตามลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น
    • แบบลูกโซ่ (Chain) เป็นชนิดที่ใช้ลูกโซ่ที่มีตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่างๆ โดยลูกโซ่เคลื่อนผ่านกระดาษ ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ จะกดลงบนผ้าหมึกไปติดลงบนกระดาษ
    • แบบดรัม (Drum Printer) มีลักษณะเป็นกระบอกโลหะที่เรียกว่า ดรัม (Drum) และมีตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ต่างๆ อยู่บนกระบอกโลหะ ขณะที่พิมพ์กระบอกโลหะจะหมุนผ่านผ้าหมึกพิมพ์ลงบนกระดาษ
    • แบบดอตแมทริกซ์ (Dot Matrix Printer) เป็นชนิดที่พิมพ์เป็นจุดต่อกันเป็นตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ยิ่งจำนวนจุดมากเท่าใดตัวพิมพ์ก็ยิ่งคมชัดมากขึ้นเพียงนั้น เครื่องพิมพ์ชนิดนี้สามารถพิมพ์ได้สองทิศทางคือ จากซ้ายไปขวาและจากขวาไปซ้าย เครื่องพิมพ์แบบ ดอตแมทริกซ์มี 2 ชนิด คือ เครื่องพิมพ์ชนิดมีเข็มพิมพ์ 9 เข็ม และ 24 เข็ม
เครื่องพิมพ์ชนิดนี้จะทำงานโดยการกดเข็มพิมพ์เล็กๆ ลงบนผ้าหมึก ซึ่งจะทำให้เกิดจุดปรากฏลงบนกระดาษ
ข้อดี ของเครื่องพิมพ์แบบนี้ คือ ราคาถูก ทนทาน สามารถพิมพ์กระดาษต่อเนื่องและพิมพ์สำเนา (Copy) ได้หลายๆ ชุด
ข้อเสีย คือ ช้า และเสียงดัง ภาพไม่คมชัด
- แบบเดซีวีล (Daisy Wheel) เป็นเครื่องพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นจานกลมๆ ที่มีซี่ออกไปเป็นแฉกๆ ที่ปลายของซี่จานนี้จะมีลักษณะเป็นแม่พิมพ์ของตัวอักษรคอมพิวเตอร์จะส่งสัญญาณไปบอกเครื่องพิมพ์ว่าจะต้องเลื่อนซี่ล้อซี่ไหนซึ่งจะตรงกับตัวอักษรอะไรไปวางไว้เหนือผ้าหมึกเพื่อกดกระแทกพิมพ์ที่เป็นตัวอักษรประทับลงบนแผ่นกระดาษ เครื่องพิมพ์ชนิดนี้ทำงานช้ามากและเวลาพิมพ์จะมีเสียงดัง ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว
    • นอนอิมแพคพรินเตอร์ (Non-Impact Printer) เป็นเครื่องพิมพ์ที่ใช้วิธีการทางเคมีในการพิมพ์ เครื่องพิมพ์ประเภทนี้พิมพ์ด้วยความเร็วสูงกว่าแบบอิมแพคพรินเตอร์ เช่น
    • แมกเนติคพรินเตอร์ (Magnetic Printer) เป็นเครื่องพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็ก
    • เครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก เป็นเครื่องพิมพ์ที่อาศัยท่อหรือร่องขนาดจิ๋วเป็นช่องทางสำหรับขับหมึกออกไปให้ปรากฏเป็นตัวอักษร หรือภาพกราฟิกบนกระดาษ แต่กลไกการขับหรือบังคับให้น้ำหมึกพ่นตัวออกไปจะแตกต่างกันตามเทคโนโลยี ซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
    • อิงค์เจ็ตพรินเตอร์ (Ink-Jet Printer) เทคนิคการขับหมึกแบบนี้จะอาศัยการส่งน้ำหมึกผ่านไปยังบริเวณตัวทำความร้อน (Heater) ซึ่งทำให้หมึกเกิดการขยายตัว และเกิดแรงดันขับหมึกผ่านร่องหมึกออกไปยังกระดาษ เทคนิคแบบนี้พบได้ในเครื่องพิมพ์พ่นหมึกของฮิวเล็ตต์ แพ็คการ์ด (HEWLETT PACKARD)
    • บับเบิลเจ็ต พรินเตอร์ (Bubble-Jet Printer) เทคนิคการขับหมึกแบบนี้จะอาศัยแรงดันจากฟองอากาศ ซึ่งเกิดจากความร้อนไปขับหมึก หัวพิมพ์ของเครื่องพิมพ์แบบนี้จะประกอบด้วยท่อขนาดจิ๋ว ซึ่งอาจมีจำนวน 48, 64, 128 หรือ 256 ท่อ แต่ละท่อจะมีตัวทำความร้อนประกบอยู่ เมื่อบังคับให้ตัวทำความร้อนสร้างความร้อนขึ้นก็จะส่งผลให้ความร้อนถ่ายตัวไปยังท่อ หมึกในท่อจะเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเกิดแรงดันสูงจนหมึกออกไปจากท่อได้ เทคนิคแบบนี้พบได้ในเครื่องพ่นหมึกของแคนนอน (CANNON)
    • เพียโซอิเล็คทริค (Piezo-Electric) เทคนิคการขับหมึกแบบนี้จะอาศัยวัสดุเซรามิก หรือคริสตอล ซึ่งจะเปลี่ยนขนาดตัวเองได้เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านชิ้นเซรามิกดังกล่าวจะประกอบติดอยู่กับผนังท่อหมึกซึ่งมีหมึกบรรจุอยู่ การขยายตัวของชิ้นเซรามิกเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจะสร้างแรงกดให้กับท่อและทำให้เกิดแรงดันบังคับให้หมึกพ่นออกมา เทคนิคแบบนี้ดีกว่าแบบบับเบิ้ลเจ็ต คือ สามารถขับหมึกด้วยความถี่สูงมากกว่า พบได้ในเครื่องพิมพ์พ่นหมึกของเอปสัน (EPSON)
    • เลเซอร์พรินเตอร์ (Laser Printer) เป็นเครื่องพิมพ์ความเร็วสูงที่มีลักษณะการทำงานคล้ายเครื่องถ่ายเอกสารทั่วไปโดยใช้การยิงแสงเลเซอร์ไปกระทบแผ่นโลหะทำให้เกิดประจุไฟฟ้าตามรูปร่างของภาพ และทำให้ผงหมึกเข้ามาเกาะเฉพาะบริเวณที่ไม่มีประจุไฟฟ้า แล้วอัดผงหมึกลงบนกระดาษอบด้วยความร้อนทำให้เกิดตัวอักษรและภาพ คุณภาพของงานพิมพ์เร็ว ภาพคมชัด สวยงาม และเสียงเงียบไม่ดังเหมือนเครื่องพิมพ์แบบดอตแมทริกซ์
เครื่องวาดรูปพล็อตเตอร์ (Plotter) เป็นอุปกรณ์แสดงผลลัพธ์ในรูปของกราฟิกหรือภาพลายเส้น เช่น แบบทางวิศวกรรม แบบบ้าน เป็นคล้ายๆ ช่างเขียนแบบอัตโนมัติที่สามารถทำงานด้วยความรวดเร็วถูกต้อง พล็อตเตอร์มีสองแบบคือแบบเป็นแผ่นระนาบมีปากกาและกลไกจับปากกาสำหรับลากเส้นไปทั่วแผ่นกระดาษที่ตึงกับที่ และอีกแบบเป็นชนิดทรงกระบอก (Drum) ซึ่งมีปากกาเลื่อนไปมาในแนวขวาง และแผ่นกระดาษก็เลื่อนไปมาอีกชนิดทิศทางหนึ่ง พล็อตเตอร์สามารถวาดเส้นได้หลายสี โดยเครื่องจะมีปากกาหลายสี การบังคับว่าจะใช้ปากกาสีอะไรขึ้นอยู่กับคำสั่งที่ใช้ในโปรแกรม ธุรกิจที่เหมาะที่จะใช้เครื่องพล็อตเตอร์ก็คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบต่างๆ
โดยปกติเครื่องคอมพิวเตอร์จะส่งข้อมูลที่ต้องการพิมพ์มาที่เครื่องพิมพ์เร็วมากแต่เครื่องพิมพ์จะทำงานช้ากว่า ทำให้พิมพ์ไม่ทัน ดังนั้นเครื่องพิมพ์จึงต้องมีบัฟเฟอร์ (Buffer)ซึ่งเป็นหน่วยความจำไว้พักข้อมูลอยู่ในเครื่องพิมพ์แล้วจึงค่อยๆ ทยอยส่งข้อมูลไปพิมพ์
ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้ง 5 ส่วนนี้จะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยสายสัญญาณ 3 ชุด ได้แก่ บัสแอดเดรส (Address Bus) บัสข้อมูล (Data Bus) และบัสควบคุม (Control Bus) การเขียน (Write) และการอ่าน (Read) ที่หน่วยรับข้อมูลและหน่วยแสดงผลลัพธ์นี้จะทำผ่าน CPU โดยตรง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น